สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายส่งเสริมจริยธรรมการวิจัย ร่วมกับสถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต ได้จัดทำ "คลังทรัพยากรการศึกษาด้านมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย"ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานวิจัยให้เป็นไปตามหลักจริยธรรม กฏหมาย และการทำงานวิจัยที่โปร่งใส เชื่อถือได้ และมีมาตรฐาน รวมถึงช่วยลดโอกาสการประพฤติผิดจริยธรรมการวิจัยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ประกอบด้วย 3 หลักสูตรออนไลน์ ดังนี้


1.หลักสูตรจริยธรรมการวิจัย 01
เป็นหลักสูตรรวบรวมสรุปเนื้อหาที่เกี่ยวกับพฤติกรรมมิชอบทางการวิจัย (Research misconduct) ได้แก่ Fabrication : การสร้างข้อมูลเท็จหรือการปั้นแต่งข้อมูลวิจัย Falsification : การปลอมแปลงข้อมูลหรือผลการวิจัย Plagiarism : การคัดลอกงานวิจัย ผลงานทางวิชาการ วรรณกรรม หรือข้อเสนอโครงการ ของผู้อื่น โดยไม่อ้างถึงแหล่งข้อมูลพร้อมทั้งยกตัวอย่างการกระทำที่เข้าข่ายพฤติกรรมมิชอบทางการวิจัยในแบบต่างๆ รวมไปถึงแนะนำโปรแกรมตรวจสอบความคล้ายของผลงานทางวิชาการ ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งประโยชน์และความสำคัญของการอ้างอิงข้อมูล เพื่อให้นักวิจัยอาวุโส นักวิจัย ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ผู้ช่วยวิจัย ของ สวทช. และบุคคลภายนอก มีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักในจริยธรรมการวิจัย เพื่อเป็นแบบอย่างในการทำงานที่มีคุณภาพและสามารถตรวจสอบได้


2. หลักสูตรจริยธรรมการวิจัย 02
รวบรวมเนื้อหาและตัวอย่างกระทำที่ถือว่าเข้าข่ายการประพฤติผิดจริยธรรมการวิจัย ได้แก่
- การลักลอกความคิดและผลงานการวิจัย (Plagiarism)
- การปลอมแปลงข้อมูลการวิจัย (Falsification)
- การแต่งข้อมูลการวิจัยขึ้นเอง (Fabrication)
และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประพฤติผิดจริยธรรมการวิจัย รวมไปถึงวิธีการป้องกัน นโยบาย และช่องทางการร้องเรียน เมื่อมีข้อสงสัยหรือพบเห็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายการประพฤติผิดจริยธรรมการวิจัยเกิดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้บุคลากร สวทช. กลุ่มวิจัย พัฒนา และวิศวกรรม บุคลากรกลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย นักศึกษา และบุคคลภายนอก ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัย และไม่ประพฤติผิดจริยธรรมการวิจัยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมทั้งสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติและประยุกต์ใช้ในการทำวิจัยให้ถูกต้อง สอดคล้องตามหลักจริยธรรมการวิจัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยหวังว่า งานวิจัยที่แล้วเสร็จ จะมีคุณภาพสูง เป็นที่ยอมรับ และสามารถทำซ้ำได้


3. หลักสูตรจรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ฯ
เนื้อหาในหลักสูตรเรียนรู้ออนไลน์ ประกอบไปด้วย
- อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์
- คำจัดกัดความของ “สัตว์” และประเภทของสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์
- ลักษณะงานทางวิทยาศาสตร์ เช่น งานวิจัย งานทดสอบ และการดัดแปลงพันธุกรรม เป็นต้น
- จรรยาบรรณการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์
- หลักเกณฑ์และหน้าที่ของผู้ใช้สัตว์/ผู้ผลิตสัตว์/ผู้รับผิดชอบสถานที่ดำเนินการ
- แบบสำรวจโครงการวิจัยที่เข้าข่ายการวิจัยในสัตว์ และแผนผังแนวทางการยื่นข้อเสนอโครงการ

สามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้และทำแบบทดสอบทางออนไลน์ได้ที่

https://elearn.career4future.com/ เลือก "หมวดมาตรฐานจริยธรรม"

โดยผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตร (มีอายุ 3 ปี) หากทำแบบทดสอบผ่านเกณฑ์การประเมิน

E-0ffice อ้างอิง : 5H0L3MCM